ขนมเบื้องโบราณ

ขนมเบื้องแพร่งนราร้านเดิม

ที่ตั้ง ถนนแพร่งนรา เขตพระนคร กทม.
เปิด ๐๙.๐๐ – ๑๘.๐๐ น ทุกวัน
โทรศัพท์ ๐๒-๒๒๒-๘๕

ย่านสามแพร่ง หลังกระทรวงกลาโหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นย่านเก่าแก่โบราณของกรุงเทพฯ ย่านสามแพร่ง ประกอบไปด้วย แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพสาสตร์ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าในตรอกที่อยู่ระหว่างถนนอัษฎางค์ และถนนตะนาว ย่านสามแพร่งเป็นย่านที่อยู่ใกล้เคียงกับหน่วยงานราชการหลายแห่ง มีข้าราชการ มีบุคลากรทำงานอยู่มาก ย่านแห่งนี้จึงมีร้านอาหารชื่อดังทั้งอาหารคาว-หวานอยู่หลายร้าน ที่เปิดจำหน่ายมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่อดีต

เมื่อได้มาเยือนแพร่งนรา แล้ว ร้านขนมร้านหนึ่งที่ควรแวะไปชิมก็คือ “ขนมเบื้องแพร่งนราร้านเดิม” ขนมเบื้องร้านนี้ เป็นร้านเก่าแก่เปิดขายมาเป็นเวลานานถึงปีที่ ๗๖ แล้ว ที่ร้านขนมเบื้องแห่งนี้มีความพิถีพิถันมาก ส่วนผสมทุกอย่างทางร้านจะทำเอง เตรียมเอง เพื่อให้ได้ขนมเบื้องที่อร่อย แป้งที่ใช้ทำมาจากถั่วทอง (ถั่วเขียวปอกเปลือก) โม่พร้อมกับข้าวสารผสมรวมกัน ก่อนจะละเลงลงบนกระทะบนเตาถ่าน จึงทั้งกรอบทั้งหอม จากนั้นก็เอาสังขยาผสมไข่ขาวละเลงทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งร้านนี้เขาต่างไปจากร้านอื่นๆ ที่ใช้ครีมสีขาว ทำให้เกิดความหวานหอมมากขึ้นอีก พอเริ่มได้ที่แล้วก็ใส่ไส้ตามลงไป โดยมีไส้สองอย่างให้เลือก คือ ไส้เค็ม กับไว้หวาน ถ้าเป็นไส้เค็ม ก็จะใส่มะพร้าวขูด กุ้งสับ มันกุ้งที่เอามาผัดกับพริกไทย โรยผักชีปิดท้าย ส่วนไส้หวาน ก็จะใส่มะพร้าวขูด ลูกพลับเชื่อม ฟักเชื่อม ฝอยทอง พอขนมเบื้องสุกแล้ว ก็พับครึ่งขนมในขณะที่ยังร้อน ก่อนจะใส่กล่องกระดาษ สำหรับรสชาติของขนมเบื้องเจ้านี้ บอกได้เลยว่า สุดยอดมากสมราคาชิ้นละ ๑๐ บาท

ในร้านมีภาพเก่าขาว-ดำของ นางลมูล หิรัญวาทิต เจ้าของสูตร ในชุดนุ่งโจงกระเบน ทำขนมเบื้องอยู่ในครัว แม่ลมูล มีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 เคยเป็นต้นเครื่องอยู่ในวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งเป็นพระอนุชาในรัชกาลที่ ๕ แม่ลมูลเป็นผู้ที่มีฝีมือในการปรุงอาหารทั้งคาวหวาน ภายหลังเมื่อสิ้นกรมพระนราธิปฯ ในปีพ..๒๔๗๔ แล้ว แม่ลมูลจึงได้ออกมาเปิดร้านขายขนมเบื้องอยู่ที่หัวมุมถนนแพร่งนรา จนแม่ลมูลเสียชีวิตไปแล้ว ลูกชาย และลูกสะใภ้จึงได้สืบทอดกิจการต่อมา แต่เนื่องจากร้านเดิมคับแคบ จึงได้ย้ายเข้าไปอยู่ในร้านลึกเข้าไปในแพร่งนราในส่วนที่ค่อนออกมาทางถนนตะนาว โดยใช้ชื่อร้านว่า “ขนมเบื้องแพร่งนราร้านเดิม” ส่วนลูกสาวของแม่ลมูลอีกคนหนึ่งได้แยกไปเปิดร้านอยู่ตรงข้ามกับวัดมหรรณพาราม และใช้ชื่อว่า “ร้านละเมียด” ทำให้ในย่านสามแพร่งและบริเวณใกล้เคียง มีร้านขนมเบื้องสูตรนี้อยู่สองร้านในปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย ครรชิต จูประพัทธศรี

หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ “เดินถนนชมย่านเก่า” โดย กุศล เอี่ยมอรุณ, ๒๕๔๖, สำนักพิมพ์สารคดี

 

ขนมเบื้อง

ขนมเบื้อง

ขนมเบื้อง