หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
ค่ายอบรมกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์
ณ โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา


โดย ครรชิต จูประพัทธศรี บางกอกฟอรั่ม 10 ก.พ. 50
 

ไม่เพียงเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่เป็นพื้นที่ทำงานของบางกอกฟอรั่ม ครั้งนี้ ทีมงานของบางกอกฟอรั่มไปทำงานไกลถึง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่อยู่ห่างไกลออกไปถึงประมาณเกือบ 800 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร

ในครั้งนี้บางกอกฟอรั่มได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาสังคมแห่งประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับธนาคารโลก และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ให้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส หลังภัยพิบัติสึนามิ โดยกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาตนเอง และพื้นที่ประสบภัย โดยกิจกรรมของโครงการในครั้งนี้ ไม่ได้เริ่มขึ้นจากการสร้างวิมานขึ้นในอากาศ แต่เริ่มมาจากการทำงานกันบนฐานข้อมูลในพื้นที่

จากการลงไปสำรวจพื้นที่อย่างคร่าวๆ ในบางหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิของ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นอกจากจะพบบ้านจัดสรรสำหรับรองรับผู้ได้รับผลกระทบที่ผุดขึ้นมามากมาย และเรื่องราวของการคอรัปชั่นของผู้รับเหมาก่อสร้างบางรายแล้ว เรายังพบปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าสนใจของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เช่น การรวมตัวกันของเด็กวัยรุ่นผู้ชายเพื่อขับมอเตอร์ซิ่ง โดยไม่มีใครที่จะคอยสอนหรือห้ามปราม ทั้งนี้เพราะพ่อแม่เด็กได้เสียชีวิตไปแล้วจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติคลื่นสึนามิ หรือกรณีที่เด็กกลายเป็นคนที่ถูกบังคับให้ต้องโตก่อนวัย บางคนต้องไปเซ็นต์ชื่อรับบ้าน ทั้งๆ ที่ยังเป็นเพียงแค่เด็กชาย นอกจากนี้เริ่มมีการยกพวกตีกันข้ามหมู่บ้าน จากเดิมที่ไม่เคยมี ทั้งนี้เพราะปู่ย่าตายายล้วนเป็นญาติกัน และเกี่ยวข้องกันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

“ปัจจุบันพื้นที่นี้อยู่ในสภาพหลังสงครามที่บ้านแตกสาแหรกขาด” ผอ.ทวิช จิตร์ประสานต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา สรุปให้เราฟังอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังบอกกับพวกเราอีกด้วยว่า ในพื้นที่นี้มีโครงการพัฒนาทางด้านกายภาพจากองค์กรภายนอกเข้ามาแล้วมากมาย เช่นโครงการซ่อมแซมก่อสร้างบ้านพักอาศัย มีโครงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ แต่กลับยังไม่มีใครกล่าวถึงการฟื้นทุนทางสังคม ซึ่งเคยอยู่ในผู้คนที่ต้องสูญเสียชีวิตไปโดยเฉพาะที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ที่คอยทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะลูกหลาน ซึ่งล้มหายตายสูญไปเพราะคลื่นสึนามิ ขึ้นมาใหม่บ้างเลย ขณะที่องค์กรต่างๆ ที่ลงไปพัฒนาพื้นที่ต่างทยอยถอนตัวหลังเสร็จสิ้นโครงการพัฒนาทางกายภาพ และปล่อยให้ชุมชนต้องต่อสู้กันโดยลำพังต่อไป

หลังจากการสำรวจพื้นที่แล้ว ทีมงานบางกอกฟอรั่มได้จัดประชุมแกนนำชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ จนมั่นใจกับสภาพหรือปรากฏการณ์ที่เราพบ จนในที่สุดการปฏิบัติงานตามโครงการก็ได้นำไปสู่การทำ “ ค่ายอบรมกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์” ให้กับเด็กในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2550 ณ โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนบ้านน้ำเค็ม และเยาวชนกลุ่มเพื่อนเพ เข้าร่วมจำนวนรวม 50 คน ทั้งนี้บางกอกฟอรั่มมีความเชื่อว่า เด็กในวันนี้จะต้องได้รับการปลูกฝังแนวคิดที่ดี และเป็นระบบ สามารถคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างทุนทางสังคมขึ้นมาใหม่ในชุมชนในอีกรูปแบบหนึ่ง

และแน่นอน.. เราเล็งเห็นถึงพลังของเด็กและเยาวชนที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

กระบวนการในค่ายอบรมกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ดังกล่าว เริ่มตั้งแต่การถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในความคิดของเด็กที่เข้าร่วมโครงการผ่านการวาดภาพ โดยเริ่มต้นจาก “ สิ่งที่ภาคภูมิใจในชีวิต” และ “ สิ่งที่ชอบที่สุดในบ้านน้ำเค็ม” มีการเชิญผู้ใหญ่ในชุมชนมาเล่าความเป็นมาของชุมชนบ้านน้ำเค็มให้ฟัง เพื่อย้อนให้เห็นอดีตของชุมชน และของดีในชุมชนที่เคยมีก่อนเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติสึนามิ ซึ่งหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่เด็กไม่เคยได้รับรู้มาก่อน จากนั้นวิทยากรได้ให้เด็กเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่เด็กๆ เห็นตั้งแต่เด็กเกิดมา กับสิ่งที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง ตามด้วยหัวข้อ “ สิ่งที่ไม่ชอบในชุมชน” ซึ่งก็คือปัญหาที่เด็กมองเห็นในชุมชนนั่นเอง ซึ่งมีตั้งแต่ ไม่ชอบกลิ่นเหม็นจากโรงงานปลาไก่ ไม่ชอบการเล่นการพนัน ไม่ชอบขยะที่รกรุงรัง ไม่ชอบสิ่งเสพติด ไม่ชอบร้านอาหารคาราโอเกะที่ทำให้คนในครอบครัวผิดใจกัน

จากนั้นวิทยากรได้ให้เด็กระดมความคิดในหัวข้อ “ สิ่งที่ชอบในชุมชน” ที่หมายถึงทุนทางทรัพยากร หรือทุนทางสังคมในชุมชน ซึ่งเด็กๆ ได้บอกว่า ชอบป่าชายเลน ชอบอนุสรณ์สึนามิ ชอบร้านอาหารบางแห่งในชุมชน ชอบคนในชุมชนที่มีนิสัยดี ชอบเมืองโบราณที่เกาะคอเขา ชอบผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ทำกันในชุมชน และอื่นๆ

เราสามารถเห็นถึงแนวคิดและความตระหนักในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของเด็กๆ ได้จากการให้เด็กๆ ช่วยกันระดมความคิดในหัวข้อ “ สิ่งที่เด็กอยากจะทำให้ชุมชน” และ “ อยากให้เกิดอะไรขึ้นบ้างในชุมชน” ซึ่งคำตอบที่ได้เด็กๆ ก็คือ อยากให้มีบ้านพักคนชรา เนื่องจากมีคนชราที่ไม่มีใครคอยดูแลอยู่จำนวนหนึ่ง อยากให้มีสนามฟุตบอล อยากให้มีศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน มีห้องสมุดประชาชนในหมู่บ้าน มีแสงไฟฟ้าส่องสว่างในตอนกลางคืน อยากให้ขยะหมดไป อยากให้มีการแยกขยะ อยากให้มีธนาคารขยะ นอกจากนี้เด็กยังช่วยกันระดมความคิดว่า มีใครที่เกี่ยวข้องบ้างกับการที่จะทำให้เกิดกิจกรรม หรือมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นในหมู่บ้านน้ำเค็มแห่งนี้

วันถัดมาของค่าย (20 มค.2550) เป็นกิจกรรมวาดภาพชุมชนในฝัน มีการให้เด็กวาดภาพ “ ชุมชนในฝันที่อยากให้เป็น” โดยมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริงที่สามารถเป็นไปได้ ซึ่งเด็กๆ ได้วาดภาพลงบนกระดาษปรูฟแผ่นใหญ่ ในภาพประกอบไปด้วย ห้องสมุดชุมชน โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา มีธุรกิจปักร่มชายหาด เนอร์สเซอรี่สำหรับดูแลเด็กเล็ก มีทะเลสีฟ้าคราม มีต้นไม้ร่มรื่น มีสนามกีฬา เด็กอีกกลุ่มหนึ่งวาดภาพป่าชายเลนที่มีสภาพสมบูรณ์ มีกิจกรรม WALK RALLY มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน เด็กอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าจะทำวิจัยขยะ และจะแยกขยะไปขายเพื่อหารายได้ อีกกลุ่มหนึ่งคิดจะทำกิจกรรมกับคนชราที่ถูกทอดทิ้งในชุมชน โดยพี่เลี้ยงประจำกลุ่มได้กระตุ้นให้น้องๆ ได้คิดโดยการตั้งคำถามว่า “ ทำไปเพื่ออะไร” “ สิ่งที่จะทำคืออะไร” “ เราจะได้อะไรบ้าง” และ “ มีอุปกรณ์อะไรบ้างที่ต้องใช้” ก่อนจะสรุปรวมยุบกลุ่มเหลือ 3 กลุ่มคือ กลุ่มเก็บขยะ กลุ่มเก็บขยะ+ กำจัดยุงลาย และกลุ่ม WALK RALLY จากนั้นวิทยากรก็ได้ให้เด็กๆ ได้ลงรายละเอียดกันว่าจะขับเคลื่อนโครงการที่เด็กๆ ได้ร่วมกันคิดได้อย่างไร

วันที่สามของค่าย (21 มกราคม 2550) ในช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยกิจกรรมฉายภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง “SPIRIT” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ก่อนจะตามมาด้วยกิจกรรมบทบาทสมมุติที่ให้ทีมวิทยากรแสดงบทบาทเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน อบต. นักเรียนคนอื่นๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และชาวบ้าน ที่เด็กๆ ต้องไปชักชวน หรือขอความร่วมมือในการทำโครงการ ที่ทำให้เด็กๆ ได้พบว่า การนำเสนอโครงการให้คนอื่นเข้าใจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินความสามารถของตน

จนในที่สุดการอบรมในครั้งนี้ก็ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย และด้วยความที่เด็กที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านน้ำเค็มนี่เอง ดังนั้นทางบางกอกฟอรั่มจึงคาดหวังว่า หลังจากเสร็จสิ้นจากการเข้ารับการอบรมไปแล้ว เด็กที่เข้าร่วมโครงการจะกลับไปพัฒนาโครงการที่ได้ร่วมกันคิดร่วมกันทำ และลงมือปฏิบัติกันจริงๆ ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ยากเย็นเกินความสามารถของเด็กๆ และเราคาดหวังว่าค่ายครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเองที่จะทำงานพัฒนาชุมชนของตัวเองต่อไป ในฐานะที่เด็กเป็นอนาคตของชุมชนแห่งนี้

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 และ 02-622-2316โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]