หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก
วิถีชีวิตพอเพียงของชาวหนองจอก
โดย ครรชิต จูประพันทธศรี บางกอกฟอรั่ม
 

เขตหนองจอกเป็นอีกหนึ่งเขตในกรุงเทพมหานคร ที่โครงการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาวะกรุงเทพ ของบางกอกฟอรั่ม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และเครือข่ายรวมพลคนรักกรุงเทพฯ ได้เข้าไปเรียนรู้เพื่อสนับสนุนให้เกิดกองทุนสุขภาวะของชาวหนองจอก โดยวิถีของชาวหนองจอก ทีมงานบางกอกฟอรั่มได้พบตัวอย่างชุมชน บริษัทธุรกิจเอกชน และผู้คนที่มีวิถีความเป็นอยู่แบบพอเพียงด้วยความเกื้อกูลและแบ่งปันกัน และนี่เป็นบางส่วนของตัวอย่างของสิ่งดีงามในเขตหนองจอกที่เราได้หยิบยกมานำเสนอ

ชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา : ชุมชนแห่งการเกื้อกูล และพึ่งตนเอง

หากมีใครสักคนบอกว่าในกรุงเทพยังมีชุมชนที่ทำนาข้าว คนทั่วไปก็คงจะไม่เชื่อ และคงจะไม่เชื่อมากกว่านั้นหากจะบอกว่า ในกรุงเทพมหานคร เมืองแห่งความสับสนวุ่นวาย มีชุมชนที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นอย่างได้ผลดีเยี่ยม จนส่งผลให้กลายเป็นชุมชนที่มีความสุขสงบ

ชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา ม.5 แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร คือชุมชนดังกล่าวนี้ ชุมชนแห่งนี้อยู่ทางทิศตะวันตกสุดของกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นชุมชนชนบทที่อยู่ชายเขตของกรุงเทพมหานคร ชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่อายุกว่า 130 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ยังมีการทำนาข้าว เลี้ยงสัตว์ ดำเนินชีวิตอย่างสุขสงบตามหลักศาสนาอิสลาม และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นทันทีที่เข้าไปในชุมชนแห่งนี้คือการรับรู้ได้ถึงบรรยากาศของความร่มรื่นเงียบสงบแบบชายทุ่งที่มีต้นไม้ให้ร่มเงา มีเสียงนกร้อง มีลำคลองสวยๆ ไหลผ่าน มีบ้านเรือนตั้งอยู่เป็นลักษณะกลุ่มบ้าน ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีบ้านหลังใดเลยที่มีรั้ว เพราะที่ชุมชนแห่งนี้ไม่มีการลักขโมย อีกทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงยังช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาดูแลซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ชุมชนแห่งนี้สามารถรักษาความสุขสงบไว้ได้ ทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบข้างที่กำลังกลายเป็นเมือง ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การที่ชาวชุมชนช่วยกันรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีหลักศาสนาอิสลามเป็นพื้นฐานในจิตใจ มีการใช้ศาสนาเป็นศูนย์กลาง ใช้ศาสนาเป็นสิ่งที่สร้างสังคม ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่สำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมและพอดี นอกจากนี้ชาวชุมชนส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาสูงพอสมควร และได้นำความรู้นั้นมาพัฒนาชุมชน ขณะที่ชุมชนเองก็มีทรัพยากรมากพอจากการผลิตเองภายในชุมชน ทำให้สามารถพึ่งตนเองได้และลดรายจ่ายลงได้มาก เมื่อเหลือจากการใช้บริโภคในครัวเรือนแล้วยังสามารถจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่ไม่ได้ทำในลักษณะของ OTOP เพราะชุมชนเล็งเห็นว่าวิธีคิดแบบ OTOP เป็นวิธีที่สร้างปัญหา

OTOP กลายเป็นปัญหา เพราะมันไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เมื่อก่อนมันเป็นการทำอยู่ทำกิน พอเปลี่ยนมาเป็นทำเพื่อการค้า มันก็เลยมีปัญหาการตลาด ต้องมีการจัดงานที่เมืองทองธานี เอาอุตสาหกรรมมาเกี่ยวโยง ต้องมี PACKAGING ฟุ่มเฟือยบริโภค เกิดการแข่งขันกันขาย สุดท้ายคือประชาชนตอนนี้หมดโอกาส OTOP ก็เลยไปตกอยู่ในมือของอุตสาหกรรม ” อาจารย์สมชาย สมานตระกูล ประธานชุมชนเล่าให้พวกเราฟังในบ่ายวันหนึ่งที่บริเวณร่มไม้หน้าบ้านของอาจารย์

"ที่นี่ไม่มี OTOP แต่มีกระบวนการ OTOP ในครัวเรือนนี่มีขนมเยอะแยะเลย แต่ไม่วางขายเป็น OTOP แต่ทุกอย่างมาจากภูมิปัญญา มีขนมดอกจอก ขนมหม้อแกง ทุกอย่าง ใครอยากกินก็ขอให้บอก เราจะทำให้เป็นรายๆ ไป แต่ถ้าให้ไปทำแข่งกันขาย อันนี้เราไม่เอา เพราะที่นี่เน้นการให้ การเอื้ออาทร มีการปรับสมดุลความพอดี คือเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เน้นการแข่งขัน คนมีอำนาจก็จะข่มคนอื่น ซึ่งผิดคุณธรรม บ้านเมืองก็เลยมีปัญหา"

แนวคิดที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษที่สำคัญประการหนึ่งของชาวชุมชนแห่งนี้คือเรื่องการให้ความสำคัญกับการศึกษา ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมาในชุมชนกันเองตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2479 โดยไม่คิดที่จะรอรับช่วยเหลือจากราชการ จนปัจจุบันนี้มีการจัดการศึกษาในชุมชนตั้งแต่ระดับเด็กก่อนวัยเรียน (ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน) ระดับอนุบาลจนถึงชั้นประถมปีที่ 6 (โรงเรียนอิสลามลำไทร) ระดับมัธยมศึกษา (การศึกษานอกโรงเรียน) ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเข้ามาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและชุมชนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติกับวิถีชีวิตพึ่งตนเอง มีการจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม มีการจัดสวัสดิการชุมชน ได้แก่ ศูนย์สุขภาพชุมชน กองทุนซะกาต และกองทุนฌาปนกิจของชุมชนตามหลักศาสนาอิสลามนอกจากนี้ที่น่าสนใจมากก็คือ สหกรณ์ร้านค้าชุมชน

ชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา ได้ก่อตั้งสหกรณ์ร้านค้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2532 นับเวลาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ 17 ปีแล้ว โดยชุมชนเป็นผู้ก่อตั้งกันเอง คิดกันเอง ทำกันเอง บนพื้นฐานของความไม่มีอะไรเลย ตั้งแต่ไม่มีอาคาร ไม่มีทุนเงิน มีแต่ความคิดที่อยากทำสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันเองในรูปแบบของสหกรณ์ โดยให้คนที่มีเงินน้อยมาเป็นเจ้าของ เงินกำไรที่ได้จากสหกรณ์ร้านค้า จะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน เพื่อปันผลให้กับสมาชิก และเอามาพัฒนาชุมชน เช่น ทำศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม

ในการระดมทุนครั้งแรก มีการขายหุ้นในอัตราผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 20 บาท รวมเป็นเงิน 7,000 บาท แต่เมื่อได้เงินมาแล้ว กลับพบอุปสรรคเนื่องจากผู้คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจ

ไปซื้อของไม่มีร้านไหนขายให้เลย เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร มันจะไปไหวไหม คือไปซื้อของราคาประมาณ 15,000 บาท จนไปเจอร้านหนึ่งเขาบอกว่า อาจารย์..หนูช่วย แล้วก็ได้ของจากร้านนั้นมาขาย โดยใช้มุมหนึ่งของโรงเรียนเป็นที่ตั้งสหกรณ์ขายสินค้า คนก็เริ่มเข้าใจ แล้วมีเงินปันผล ซึ่งกลายเป็นคำตอบว่า สหกรณ์ดี ชาวบ้านก็เลยถือหุ้นเพิ่ม ไม่เคยเลยในชีวิตที่ชาวบ้านซื้อของแล้วจะได้เงินกลับคืน ตอนนี้มีเงินหุ้นอยู่ 7 แสน มีเงินทุนหมุนเวียน 1 แสน ซึ่งพอแล้ว และชุมชนไม่อยากขยายสหกรณ์ คือจริงๆ แล้วสหกรณ์เป็นอุดมการณ์ สหกรณ์ไม่ใช่ร้านค้า” อาจารย์สมชายอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

สำนักพัฒนาชุมชนเข้ามาถามผมว่า อาจารย์จะเอาเงินไหม ดอกเบี้ยไม่มี ผมบอก..ผมไม่เอา เงินโครงการ SML ก็ไม่เอาด้วย ทุนที่จะเข้ามา มันควรเป็นทุนทางสังคมมากกว่า ถ้าเป็นทุนเงินมันจะเป็นดาบฟันสังคม ฟันไม่เลี้ยงเลย

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความอยู่เย็นเป็นสุขก็คือ การมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีความรู้ ยึดมั่นในศาสนา เป็นผู้สามารถประสานทุกอย่างด้วยหลักการเข้าด้วยกันอย่างลงตัวและเหมาะสม แบบอาจารย์สมชาย สมานตระกูล และกรรมการชุมชนนี่เอง จนปัจจุบันชุมชนแผ่นดินทอง คอยรุตตั๊กวา มีความสุขสงบร่มเย็นจนกลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่ได้รับรางวัลมากมาย และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของหน่วยราชการต่างๆ องค์กรชุมชนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด จนชื่อเสียงแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 และ 02-622-2316โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]