หน้าแรก I ติดต่อบางกอกฟอรั่ม I เกี่ยวกับบางกอกฟอรั่ม I  English version   I  Webboard บางกอก

ชาวสวนเมืองกรุงจะช่วยโลกร้อนได้อย่างไร
(งานครบรอบ 3 ปี ตลาดน้ำคลองลัดมะยม)

 

ชาวสวนเมืองกรุงจะช่วยโลกร้อนได้อย่างไร”

ผลจากภาวะโลกร้อน ทำให้หลายคนหันมาสนใจปัญหานี้กันมากขึ้น
ไม่เว้นแม้กระทั่งชาวสวนกลางกรุงอย่างชาวสวนในคลองลัดมะยม ที่แขวงบางระมาด ตลิ่งชัน
ก็แสดงความห่วงใยในปัญหานี้เช่นกัน จึงร่วมมือกับบางกอกฟอรั่ม และภาคีพันธมิตร จัดเสวนาริมลำน้ำ
ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่น โดยมีคนที่สนใจปัญหาเรื่องโลกร้อนมานั่งฟังกันอย่างหนาตา

การเสวนาเริ่มต้นด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์ แห่งภาควิชาพฤกษ์ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ
เป็นผู้เปิดประเด็นเป็นท่านแรก ในฐานะตัวแทนนักวิชาการที่มีความสามารถในการเชื่อมโยงหลักวิชาให้เข้ากับธรรมชาติ
จนนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของคนทุกกลุ่มทุกวัยว่า

“ในฐานะที่ผมคลุกคลีอยู่กับวิถีชุมชนมานาน จึงอยากให้คนไทยรู้ว่าบ้านเรานั้นเป็นแดนสวรรค์ ที่เราเคยท่องจำว่า
เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน ไม่เคยมีภัยพิบัตินั้นเป็นความจริง คนไทยเราเจอภัยพิบัติครั้งแรก
ก็เมื่อพายุเข้าที่แหลมตะลุมพุก ”

“ถึงจะมีน้ำท่วมก็ไม่มีใครเป็นทุกข์ เพราะธรรมชาติของคนไทยเราเป็นชาวน้ำ เรามีเรือใช้ พอน้ำท่วม
หนุ่มสาวก็จะเอาเรือออกไปเก็บดอกโสน โดยใช้ข้ออ้างนี้เพื่อจะได้เจอกัน จนเมื่อเราสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมา
เราจึงเปลี่ยนจากเรือนแพเป็นเรือนบก แต่ทุกวันนี้ที่คนกรุงเทพมีความทุกข์ ก็เพราะเราอยู่บนลุ่มเจ้าพระยา
ซึ่งตามธรรมชาติเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วม แต่เรากลับบอกว่า จะไม่ให้น้ำท่วม อันเป็นการสร้างทุกข์ให้ตัวเอง ”

“โดยไม่เข้าใจว่าธรรมชาติของเราคือชาวน้ำ จะสังเกตได้ว่าคนไทยเรารู้จักพืชน้ำเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือไผ่
เรียกว่าคนกรุงในอดีตมีภูมิปัญญาอยู่มาก แม้จะไม่ร่ำรวย แต่ก็อยู่กันอย่างเกื้อกูล มีแต่รอยยิ้ม แต่คนกรุงทุกวันนี้
กลับไม่รู้จักภูมิปัญญาเหล่านี้ ผมจึงอยากฝากว่า ถึงโลกจะร้อน น้ำจะท่วมโลก ก็ไม่ต้องกลัว เพราะเราเป็นชาวน้ำ
ตามวิถีไทยอยู่แล้ว”

 

ผู้เข้าร่วมเสวนาท่านถัดมา คุณสุรจิต ชิรเวทย์ นักวิจัยท้องถิ่นที่สนใจวิถีพื้นบ้านมานานปี โดยทำงานคลุกคลีอยู่ใน
ลุ่มน้ำแม่กลอง มาร่วมเล่าประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานให้เราฟังกัน

“ผมอยากให้ภาพเบื้องต้นว่า หากจะว่ากันถึงบ้านสวนและทะเลแล้ว ก็ต้องพูดถึงข้างขึ้นข้างแรม
ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร เพราะการทำกิจกรรมต่างๆชาวสวนที่อยู่ใกล้ทะเลจะต้องดูเวลาน้ำขึ้นน้ำลงเป็นหลัก
ซึ่งถ้าเราอยู่เป็นอยู่ฉลาดเหมือนบรรพบุรุษ ก็คงไม่ต้องกลัวโลกร้อนเหมือนอัล กอร์ เพราะคนมีปัญญาย่อมอยู่ได้
เพียงแต่ต้องรวบรวมภูมิปัญญาในอดีตที่เป็นรากเหง้า มาดัดแปลงเป็นแผนพัฒนาเสีย 

ที่ผ่านมาเราสอนให้ลูกหลานบริโภคมาก โดยเอาตัวไปผูกพันกับโลกภายนอก ผลิตแต่สิ่งที่ไม่ได้กินไม่ได้ใช้
เมื่อคนทะลักเข้ามาในเมืองกรุง เราก็แก้ปัญหาด้วยการถมคลองเพื่อทำถนน ถมที่เพื่อสร้างบ้าน แล้วจ้างบริษัท
กำจัดปลวกมาฉีดยากำจัดปลวก ทั้งที่ในอดีตบ้านเราจะยกใต้ถุนสูง เพื่อให้น้ำจัดการกับมดปลวกแทน      
แล้วเมื่อเกิดแผ่นดินทรุด เราก็แก้ด้วยการล้อมเขื่อน แม้ว่าในความเป็นจริงเราจะอยู่ในที่ที่มีน้ำหลากผ่าน
แต่เรากลับไม่ยอมให้น้ำหลากเพื่อพัดพาเอาตะกอนมาเติมแผ่นดิน อ่าวไทยสมัยก่อนมีแผ่นดินงอกตลอด
เพิ่งจะมาพังก็เมื่อสามสิบกว่าปีมานี้เอง เพราะไม่ยอมให้น้ำหลากผ่าน และจะเป็นที่รู้กันเลยว่าผลไม้แถบนี้รสชาติอร่อย
เพราะดินอุดม เนื่องจากแม่น้ำทั้งห้าสายไหลมาลงทะเลตรงนี้

“ที่ดินที่เหมาะสำหรับทำเกษตรปลอดสารเคมี กลับกลายเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรที่ยัง
ทำเกษตรอยู่ก็เลยต้องพึ่งสารเคมี เพื่อปราบแมลง ผมจึงอยากให้เราอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ
เพราะแม่น้ำไม่เคยลืมเส้นทางเก่าของตัวเอง นานสักห้าปีสิบปีจะต้องกลับมาเอาคืนสักครั้ง แม่กลองปัจจุบัน
คือภาพของกรุงเทพในอดีต แม้จะมีที่ดินแค่คนละไม่กี่ไร่ แต่ก็สามารถยังชีวิตอยู่ได้”

คุณลุงชวน ชูจันทร์ หนึ่งในผู้อภิปรายอีกท่านหนึ่ง ร่วมเสริมในฐานะตัวแทนชาวชุมชนคลองลัดมะยมว่า
เราคงต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่สามารถเป็นเสือตัวที่ห้าได้อีกต่อไปแล้ว และคงต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว
ที่ผ่านมา ผมจึงดีใจที่เศรษฐกิจล้ม เพื่อว่าเราจะได้เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
แต่แล้วเราก็กลับไปปฏิบัติตัวเหมือนเดิม

คลองลัดมะยมอยู่ใกล้เจ้าพระยาเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงทางเรือ แต่ก่อนมีความอุดมสมบูรณ์มาก บ้านทุกหลัง
ยกใต้ถุนสูงหมด มีการปลูกเรือนตามตะวัน ทำให้บ้านเย็น และได้รับลมเต็มที่ตลอดจึงไม่ต้อง
ใช้แอร์คอนดิชั่นเลย การทำสวนก็เลือกทำร่องสวนขวางตะวัน เพื่อต้นไม้จะได้แดดทั้งเช้าและบ่าย
ไม่ต้องเอียงรับแสง ไม่ปะทะลม ถึงจะโดนพายุก็ไม่โค่นแต่ก่อนน้ำท่วมก็สำคัญเพราะจะช่วย
ให้ผลไม้มีรสอร่อย เพราะเป็นแหล่งสะสมของโปตัสเซียมที่ช่วยให้ผลไม้หวาน ผลไม้ที่แถบนี้จึงหวาน
เหมือนกับจิ้มน้ำตาล แต่เดี๋ยวนี้เรือกสวนถูกกว้านซื้อเพื่อถมที่ทำหมู่บ้านจัดสรร ทำให้เกษตรกร
โดยรอบอยู่ไม่ได้ เพราะยาฆ่าปลวกที่หมู่บ้านฉีดไหลลงสู่คลอง

“แต่สามสิบปีที่ผ่านมาเรากลับไม่เรียนรู้เรื่องเหล่านี้เลย ผมจึงอยากให้ชุมชนเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เอาไว้
เพราะจนผมตายไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะยังมีภูมิปัญญาแบบนี้หลงเหลืออยู่อีกหรือเปล่า”

คุณธารี กาเมือง ผู้จัดการโครงการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์กรที่มีบทบาทในการสนับสนุนให้ภาคต่างๆ
รวมทั้งภาคประชาชนมีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อม พูดถึงการที่ชาวสวนเมืองกรุงจะช่วยโลกร้อนได้ก็ด้วยการ
“ดำรงวิถีไทย แต่จะทำอย่างไรให้คนทั่วไปรู้ว่า เราต้องไม่เปลี่ยนวิถี โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกดีใจที่มีกลุ่มอนุรักษ์แบบนี้
เพื่อจะได้ขยายพื้นที่สีเขียวไว้สำหรับซึมซับก๊าซเรือนกระจกกลางกรุง แม้ว่าเราจะไม่ใช่ประเทศอันดับต้นๆของโลก
ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็อยากให้เราหันมาฉุกคิดบ้างว่า สิ่งที่เราทำมีผลกระทบต่อโลกอย่างไร

“แต่สิ่งที่ดิฉันอยากฝากไว้ก็คือ เราอย่าไปโทษโลกร้อนเสียหมด เพราะถ้าหากไม่มีโลกร้อน โลกเราก็จะหนาวเย็น
จนสิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพียงแต่หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกเราก็เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตร
มาเป็นอุตสาหกรรม เราบริโภคทุกอย่างแบบบ้าระห่ำ ซึ่งถ้าหากเราหันหลับมามองตัวเอง บริโภคให้น้อยลง
และหันมาอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบนี้เอาไว้ก็จะดีค่ะ”   
กลับมาที่อาจารย์ยงยุทธ ซึ่งฝากข้อคิดเอาไว้ว่า “เราคลั่งไคล้เรื่องความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกันมาก
โดยเราไม่รู้ว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแตกต่างจากธรรมชาติตรงไหน

ผมอยากจะบอกว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเปรียบไปก็คือกองทราย “ยิ่งเราสะสมกองทรายไว้มากเท่าไร
เวลายิ่งผ่านไปกองทรายก็ยุบลงเรื่อยๆเท่านั้น ในขณะที่ธรรมชาติซึ่งก็คือต้นไม้มีแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ผมอยากให้เราคิดให้ดีๆ คิดใหม่ เพราะอีกไม่นานเราก็จะต้องตายไป แต่ลูกหลานเราต่างหากที่จะเป็นฝ่ายได้ใช้”     
มีความเห็นเพิ่มเติมจากผู้ที่มานั่งฟังการเสวนา อดีตครูใหญ่ประจำโรงเรียนในแถบนี้พูดว่า

“มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2508 ว่างๆก็จะชอบนั่งเรือพายชมธรรมชาติแถวๆนี้ แล้วพอหลังจากผมเกษียณอายุแล้ว
ก็ไปทำนา รู้สึกว่าอยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาวิถีชีวิตแบบนี้เอาไว้” 

ข้างฝ่ายคุณสุรจิตก็สรุปไว้ได้อย่างน่าคิดว่า “ผมเชื่อตามที่คนจีนพูดเอาไว้ว่า คิดใหญ่ ทำเล็ก และจะไม่เป็นฝ่ายรอ
เพียงแต่เรามีความมุ่งมั่น อย่าคิดอะไรใหญ่จนเกินไป ผมมีข้อเสนอในเรื่องนี้ว่า เราควรจะปลูกฝังเรื่องนี้
ให้กับเด็กรุ่นใหม่ เพียงแต่เราจะสอนพวกเขาอย่างไร

“ผมเชื่อว่าภาคประชาชนเรามีองค์ความรู้และภูมิปัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ เพียงแต่ต้องทำให้พวกเขาเห็น
โดยให้เขาเรียนรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ ทั้งที่เรามีทั้งภูมิปัญญาและวิชาการแบบสมัยใหม่ แต่เรากลับไม่มีอะไร
มาเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าหากัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะที่ผ่านมาเราคิดแบบไม่ตรงไปตรงมา
ทั้งที่เรื่องมันตรงไปตรงมา และเราต้องไม่แยกกันทำ เราต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน จัดตั้งเป็นชมรมขึ้นมา
เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ร่วมกัน”

คงถึงเวลาที่เราต้องยอมรับกันแล้วว่า โลกร้อนไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากเราหันกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เรียนรู้
และนำมาประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่ที่จะต้องเผชิญกับโลกร้อน มีชีวิตอยู่ร่วมกับ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้อย่างสมดุล โลกร้อนก็คงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด

Copyright@ 2006 Bangkok Forum
บางกอกฟอรั่ม เลขที่ 104, 106 ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทร. 02-228-1362-3 โทรสาร 02-228-1362 หรือ www.bangkokforum.net หรือ [email protected]